วันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

การใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้องและเหมาะสม


1. ห้ามใช้สารเคมีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ตามเอกสารสนับสนุน  รายชื่อวัตถุอันตรายห้ามใช้ในการเกษตร  และต้องใช้สารเคมีให้สอดคล้องกับรายการสารเคมีที่ประเทศคู่ค้าอนุญาตให้ใช้
2. อ่านฉลากคำแนะนำ เพื่อให้ทราบคุณสมบัติ และวิธีการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อนปฏิบัติงานทุกครั้ง
3. ผู้ประกอบการและแรงงานที่ปฏิบัติงานด้านการป้องกันกำจัดศัตรูพืช  ควรรู้จักศัตรูพืช  ชนิดและอัตราการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช  การเลือกใช้เครื่องพ่นและอุปกรณ์หัวฉีด  รวมทั้งวิธีการพ่นสารเคมีที่ถูกต้อง  โดยต้องตรวจสอบเครื่องพ่นสารให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานตลอดเวลา  เพื่อป้องกันสารพิษเปื้อนเสื้อผ้าและร่างกายของผู้พ่น  ต้องสวมเสื้อผ้าอุปกรณ์ป้องกันสารพิษ  ได้แก่ หน้ากากหรือผ้าปิดจมูก  ถุงมือ  หมวก และรองเท้าเพื่อป้องกันอันตรายจากสารพิษ
4. เตรียมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช  และใช้ให้หมดในคราวเดียว  ไม่ควรเหลือติดค้างในถังพ่น
5. ปิดฝาภาชนะบรรจุสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้สนิทเมื่อเลิกใช้  และเก็บในสถานที่เก็บสารเคมี
6. เมื่อใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชหมดแล้ว  ให้ล้างภาชนะบรรจุสารเคมีด้วยน้ำ  2-3  ครั้ง  แล้วเทลงในถังพ่นสารเคมี  ปรับปริมาณน้ำตามความเข้มข้นที่กำหนด  ก่อนนำไปใช้พ่นป้องกันกำจัดศัตรูพืช
7. ควรพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในช่วงเช้าหรือเย็นขณะลมสงบ  หลีกเลี่ยงการพ่นในเวลาแดดจัดหรือลมแรง  และขณะปฏิบัติงานผู้พ่นต้องอยู่เหนือลมตลอดเวลา
8. หลังจากพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชทุกครั้ง  ผู้พ่นต้องอาบน้ำ  สระผม  และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที  เสื้อผ้าที่ใส่ขณะพ่นสารต้องซักให้สะอาดทุกครั้ง
9. ต้องหยุดใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อนการเก็บเกี่ยวตามที่ระบุไว้ในฉลากกำกับการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแต่ละชนิด
10. ให้ปฏิบัติตามแผนควบคุมการผลิตของสับปะรดโรงงาน

ความสะอาดปลอดภัยและกำจัดของเสียและวัสดุเหลือใช้
1. ภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้หมดและล้างสารเคมีออกหมดแล้วตามคำแนะนำในข้อ 6  ต้องไม่นำกลับมาใช้อีก  และต้องทำให้ชำรุดเพื่อป้องกันการนำกลับมาใช้  แล้วนำไปทิ้งในสถานที่ที่จัดไว้สำหรับทิ้งภาชนะบรรจุสารเคมีโดยเฉพาะ หรือทำลายโดยการฝังดินห่างจากแหล่งน้ำ  และให้มีความลึกมากพอที่สัตว์ไม่สามารถคุ้ยขึ้นมาได้ ห้ามเผาทำลาย
2. ส่วนต่างๆของพืชที่มีโรคและแมลงเข้าทำลายต้องเผาทำลายนอกแปลง
3. เศษพืช  หรือกิ่งที่ตัดแต่งจากต้นไม้และไม่มีโรคเข้าทำลาย  สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสดได้
4. จำแนก  และแยกประเภทของขยะให้ชัดเจน  เช่น กระดาษ  กลิ่งกระดาษ  พลาสติก  แก้ว  น้ำมัน  สารเคมี และเศษซากพืช เป็นต้น  รวมทั้งควรมีถังขยะวางให้เป็นระเบียบ หรือระบุจุดทิ้งขยะให้ชัดเจน

การตรวจสภาพ  และการซ่อมบำรุง
1. มีการตรวจสภาพเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร เช่น  เครื่องพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช  อุปกรณ์การเก็บเกี่ยว  ก่อนนำออกไปใช้งาน  และต้องทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้งานเสร็จแล้ว และก่อนนำไปเก็บในสถานที่เก็บ
2. มีการตรวจซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร  ตามแผนการบำรุงรักษาที่กำหนดไว้  พร้อมทั้งบันทึกผลการตรวจซ่อมทุกครั้ง  ลงใบแบบบันทึก
3. เครื่องมือ  อุปกรณ์  และภาชนะที่ใช้ในการบรรจุ  และขนส่งผลผลิต  ต้องมีการทำความสะอาดทุกครั้งก่อนการใช้งาน  และเมื่อใช้งานเสร็จแล้วต้องทำความสะอาดก่อนนำไปเก็บ
4. กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องอาศัยความเที่ยงตรงในการปฏิบัติงาน  ต้องมีการตรวจสอบความเที่ยงตรงอย่างสม่ำเสมอแล้วแต่กรณี  หากพบว่ามีความคลาดเคลื่อนต้องดำเนินการปรับปรุง  ซ่อมแซม  หรือเปลี่ยนใหม่  เพื่อให้อุปกรณ์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานเมื่อนำมาใช้งาน

หลักการใช้สารกำจัดวัชพืช
การป้องกันกำจัดวัชพืชโดยใช้สารเคมีนั้น  เป็นวิธีการที่กำลังได้รับความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย  เพราะเชื่อว่าการใช้สารกำจัดวัชพืชเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้  โดยที่การใช้สารกำจัดวัชพืชอาจใช้ต้นทุนต่ำกว่าการกำจัดด้วยวิธีการอื่น ๆ อย่างไรก็ดีการใช้สารกำจัดวัชพืชแต่ละครั้งต้องพิจารณาถึงข้อดี – ข้อเสีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น