โรครากเน่า รากของต้นพืชเกิดอาการเน่าสีดำ หรือสีน้ำตาล เปลือกหลุดล่อน เกิดได้จากการทำลายของเชื้อรา และน้ำท่วมขัง ใช้ยา Terraclor
โรครากปม รากต้นพืชมีอาการบวมพองออก ลักษณะเป็นปุ่มปม อาการพองหรือปมจะเกิดจากภายในรากออกมา มักเกิดจากการทำลายของไส้เดือนฝอย ใช้วิธีปล่อยน้ำท่วม
โรคเน่าคอดิน หรือโรคต้นกล้าเน่า บริเวณโคนต้นพืช เกิดแผลเน่าและมีการลุกลามขยาย โดยมักทำให้เปลือกต้นเน่าเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ หากถากเปลือกออก ส่วนเนื้อลำต้นมักมีอาการของแผลเน่าสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลแดง ส่วนมากเกิดจากการทำลายของเชื้อรา ใช้ยา Thiram
โรคยอดแห้งตาย อาการแห้งตาย จะพบที่ยอดก่อน ต่อมาจะลุกลามมาตามกิ่งก้าน จนในที่สุดอาจตายทั้งกิ่งหรือทั้งต้นได้ โรคนี้ส่วนมากเกิดจากเชื้อราเช่น โรคยอดแห้งของส้มและมะนาว เป็นต้น ต้นพืชหลายชนิดที่ปลูกในบ้านอาจเกิดอาการยอดแห้งตาย เนื่องจากถูกแสงแดดจัดเผา หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้หลายสาเหตุ ใช้ยา Metalaxyl
โรคใบจุด เกิดเป็นแผลที่ใบ มีรูปร่างแตกต่างกันแล้วแต่สาเหตุที่เข้าทำลาย ขนาดของแผลอาจเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ บนใบ อาจเกิดกระจายกันทั่วทั้งใบ ถ้าเกิดจุดแผลมาก ๆ อาจจะทำให้ใบแห้งได้ โรคใบจุดของพืชส่วนมากเกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย เช่น โรคใบจุดของถั่วเขียว โรคใบจุดของคึ่นฉ่าย โรคใบจุดของถั่วฝักยาว เป็นต้น ใช้ยา Mancozeb
โรคใบไหม้ เกิดแผลแห้งตาย ขนาดของแผลใหญ่กว่าอาการใบจุด ขอบเขตของแผลจะลุกลามขยายได้กว้างขวางกว่า การไหม้อาจเกิดที่กลางใบ ปลายใบ หรือขอบใบก็ได้ ส่วนมากเกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย เช่น โรคใบไหม้ของทานตะวัน โรคใบไหม้ของเบญจมาศ เป็นต้น ใช้ยา Matalaxyl
โรคแอนแทรคโนส ใบพืชที่เกิดโรคนี้ จะเป็นแผลแห้งสีน้ำตาล ส่วนมากจะเห็นเชื้อรามีลักษณะเรียงเป็นวงซ้อน ๆ กันค่อนข้างชัดเจนในบางพืช โรคนี้เกิดได้ทั้งบนใบ กิ่ง และผล สาเหตุเกิดจากเชื้อรา เช่น โรคแอนแทรคโนสของพริก มะละกอ มะม่วง กล้วยไม้ และไม้ใบประดับหลายชนิด ใช้ยา Benomyl, Mancozeb
โรคราน้ำค้าง อาการโรคราน้ำค้างพบมากในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด มักพบอาการใบลายเป็นแถบสีเหลืองเขียวสลับกันตามความยาวของใบ ถ้าอากาศชื้น ๆ อุณหภูมิพอเหมาะ จะพบผลสปอร์ของเชื้อสีขาว ๆ เกาะติดที่ใบ ในพืชใบเลี้ยงคู่ เช่น พืชตระกูลแตง จะเห็นใบมีอาการเป็นแผลจุดเหลี่ยมสีน้ำตาลใช้ยา Metalaxyl
โรคราแป้งขาว โรคนี้เกิดจากเชื้อรา โดยจะพบผงแป้งสีขาวๆ เกาะติดที่ใบ คล้าย ๆ กับเอาแป้งไปโรยคลุมกระจายตามส่วนต่างๆ ของใบ หรือทั่วทั้งใบ ต่อมาใบจะเหลืองและแห้งตาย เช่น โรคราแป้งขาวของบานชื่น และโรคราแป้งขาวของกุหลาบ เป็นต้น ใช้ยา Benomyl
โรคราดำ โรคนี้จะมีอาการเป็นผงคล้ายเขม่าดำคลุมผิวใบ หรือส่วนอื่น ๆ ของพืช เมื่อใช้มือลูบผงสีดำ ซึ่งเป็นส่วนของเส้นใยและสปอร์ของเชื้อราจะหลุดออก เชื้อราชนิดนี้ จะไม่แทงเข้าไปในใบพืช เพียงแต่ขึ้นเจริญปกคลุมผิวใบ ส่วนมากพบภายหลังการทำลายของเพลี้ยจักจั่น เพลี้ยแป้ง หรือแมลงหวี่ขาว เนื่องจากราชนิดนี้จะขึ้นเจริญบนน้ำหวานที่แมลงเหล่านั้นขับถ่ายออกมา โรคนี้ที่พบมาก เช่น โรคราดำของมะม่วง โรคราดำของมะยม ใช้ยา Zineb
โรคใบด่าง มีหลายลักษณะ แล้วแต่สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค อาจเกิดจากเชื้อไวรัส เกิดจากการขาดธาตุอาหาร หรือลักษณะกลายพันธุ์ของพืช สำหรับอาการใบด่างที่เกิดจากไวรัส ส่วนมากมีสีเหลืองสลับเขียว เนื้อใบไม่เรียบเป็นคลื่น และใบมีรูปร่าง ผิดปกติ เช่น โรคใบด่างของกล้วยไม้ โรคใบด่างของยาสูบ และโรคใบด่างของผักต่าง ๆ บางครั้งอาจจะพบอาการด่างเป็นวงแหวน เช่น โรคใบด่างวงแหวนของมะละกอ หรือโรคใบด่างวงแหวนของกุหลาบ ต้องถอนเผาทำลายทิ้ง
โรคใบหงิก ใบจะหงิกม้วนงอเป็นคลื่น หรือมีอาการยอดหงิก ต้นพืชจะแคระแกร็น มีการเจริญเติบโตช้า และพืชทั้งต้นจะมีขนาดเล็กลง เมื่อเปรียบเทียบกับต้นปกติ โรคนี้เกิดจากไวรัส เช่น โรคใบหงิกของมะเขือเทศ โรคใบหงิกของยาสูบ เป็นต้น ต้องถอนทำลายทิ้ง
โรคใบขาว ใบจะมีสีขาวซีด และต้นแคระแกร็น เนื่องจากพืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ตามปกติ เช่น โรคใบขาวของอ้อย เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา ทำให้อ้อยมีการแตกลำน้อย และน้ำหนักของลำอ้อยลดลงมาก หรือโรคใบขาวของหญ้าแพรก โรคใบขาวของหญ้านวลน้อย หรือโรคใบขาวของหญ้ามาเลเซีย เป็นต้น พืชหลายชนิดที่ปลูกในกระถางเป็นเวลานาน ๆ และไม่มีการเปลี่ยนดิน หรือเครื่องปลูก มักทำให้ดินแน่นและต้นพืชเกิดการขาดอาหาร ต้นพืชอาจแสดงอาการซีดเหลืองได้เช่นกัน
โรคเมล็ดเน่า-เมล็ดด่าง เมล็ดจะเน่าและไม่สามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้ เพราะมีเชื้อโรคหลายชนิดเข้าทำลาย เช่น เชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น มักเกิดขึ้นในกรณีที่เก็บรักษาเมล็ดไม่ดี เช่น เมล็ดที่มีความชื้นสูง หรือเปียกน้ำ หรืออาจมีเชื้อโรคติดปนเปื้อนอยู่กับเมล็ด
โรคเน่าเละ อาการเน่าเละสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นเหม็นรุนแรง เกิดได้ทั้งผล ราก หัว และใบของพืชผัก เมื่อเป็นโรคนี้ ผักจะเน่าเละทั้งต้น หรือทั้งหัว สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคเน่าเละของปทุมมาและกระเจียว โรคเน่าเละของชวนชม โป๊ยเซียน กระบองเพชรและกุหลาบหิน
โรคเหี่ยว ต้นพืชอาจแสดงอาการเหี่ยวเฉาในลักษณะต่างๆ กัน เช่น การเหี่ยวเนื่องจากการขาดน้ำ เมื่อได้น้ำก็จะฟื้นปกติ อาการเหี่ยวใบเหลืองลู่ เนื่องจากเชื้อราไปทำลายท่อน้ำ และท่ออาหารของพืช สาเหตุโรคเหี่ยวเกิดจากการทำลายของเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น โรคเหี่ยวของมะเขือเทศ โรคเหี่ยวของพืชตระกูลแตง โรคเหี่ยวของกล้วย โรคเหี่ยวของพริก เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น